วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

ขนมไทย

ขนมไทย เป็นของหวานที่ทำและรับประทานกันในอาณาจักรไทย ขนมไทยเป็นเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประจำชาติไทยอย่างหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดี เพราะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนประณีตในการทำ ตั้งแต่วัตถุดิบ วิธีการทำที่กลมกลืน พิถีพิถันในเรื่องรสชาติ สีสัน ความสวยงาม กลิ่นหอม รูปลักษณะชวนน่ารับประทาน ตลอดจนกรรมวิธีการรับประทาน ซึ่งยังแตกต่างกันไปตามลักษณะของขนมชนิดนั้นๆ

วิถีชีวิตของคนไทยนั้นเป็นสังคมเกษตรที่มีผลิตผลทางธรรมชาติอยู่มากมาย เช่น กล้วย อ้อย มะม่วง รวมไปถึงข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ฯลฯ ที่สามารถปรุงเป็น ขนม ได้มากมายหลายชนิด เช่น อยากได้ กะทิ ก็เก็บมะพร้าวมาขูดคั้นน้ำกะทิ อยากได้ แป้งก็นำข้าวมาโม่เป็นแป้งทำขนมอร่อยๆ เช่น บัวลอย กินกันเองในครอบครัว

ขนมไทย
ขนมไทยถูกนำไปใช้ในงานบุญตามประเพณีและงานพิธีกรรม ที่เกี่ยวข้องในวิถีชีวิตชาวไทย โดยนิยมทำขนมชื่อมีมงคล ได้แก่ ขนมตระกูลทองทั้งหลาย เพราะคนไทยถือว่า "ทอง" เป็น ของดีมีมงคลทำแล้วได้มีบุญกุศล มีเงินมีทอง มีลาภยศ สรรเสริญ สมชื่อขนมนั่นเอง

ขนมไทย นิยมทำกันทุกๆ ภาคของประเทศไทยและในงานพิธีการต่างๆ เช่น งานทำบุญเลี้ยงพระ ก็จะทำขนมจากไข่ซึ่งก็คือขนมไข่นั่นเอง และมักถือเคล็ดจากชื่อและลักษณะของขนมนั้นๆ งานศิริมงคลต่างๆ เช่น งานมงคลสมรส ทำบุญวันเกิด หรือทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ส่วนใหญ่ก็จะมีการเลี้ยงพระกับแขกที่มาในงาน เพื่อเป็นศิริมงคลของงาน ขนมก็จะมีฝอยทองเพื่อหวังให้อยู่ด้วยกัน ยืดยาวมีอายุยืน ขนมชั้น ก็ให้ได้เลื่อนขั้นเงินเดือน ขนมถ้วยฟูก็ขอให้เฟื่องฟู ขนมทองเอกก็ขอให้ได้เป็นเอก เป็นต้น

ขนมที่ใช้ในงานมงคลสมรส
ถ้าเป็นงานมงคลสมรสมักจะทำขนมหวานให้ครบ 9 อย่าง ขนมที่ใช้ในงานมงคลสมรสตามประเพณี ทางฝ่ายเจ้าสาวจะต้องเป็นผู้จัด และขนมที่นิยมจัด คือ
1. ฝอยทองหรือทองหยิบ
2. ขนมชั้น
3. ขนมถ้วยฟู
4. ขนมทองเอก
5. ขนมหม้อแกง
6. พุทราจีนเชื่อม
7. ข้าวเหนียวแก้ว หรือวุ้นหน้าสีต่าง ๆ
8. ขนมดอกลำดวน
9. ผลไม้ต่าง ๆ ลอยแก้ว

แต่ตามความเชื่อบางอย่างของคนไทย ขนมที่มีลักษณะเป็นเส้นมักจะใช้สำหรับงานทำบุญอายุ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้มีอายุยืนยาว แต่กลับไม่ใช้จัดในงานศพ เพราะเชื่อว่าจะมีการตายต่อเนื่องไม่เป็นมงคล ความเชื่อเหล่านี้ถือเป็นเหตุผลของแต่ละบุคคลมิได้เป็นข้อห้ามเสียทีเดียว

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น